วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ผลกระทบจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและบัญญัติ 10 ประการในการใช้งานคอมพิวเตอร์

5.5 ผลกระทบอินเทอร์เน็ต

5.5 ผลกระทบการใช้งานอินเทอร์เน็ต 

    บริการบนอินเทอร์เน็ตมีการพัฒนาให้มีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย ผู้ใช้สามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวดและรวดเร็ว สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองทั้งเพื่อการศึกษา การทำงาน ความบันเทิง หรือเพื่อตอบสนองความต้องการอื่นๆ สามารถช่วยลดช่องว่างและเพิ่มโอกาสให้การเรียนรู้ให้กับผู้ที่อยู่ในถิ่นห่างไกล ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในเชิงวิชาการ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากสังคมแบบเดิมที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่มีความใกล้ชิดกันในเชิงภูมิศาสตร์ให้หมู่บ้าน เมือง ประเทศ หรือภูมิภาคเดียวกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นสังคมใหม่เรียกว่า สังคมในโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นสังคมเสมือนที่เกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลที่มีความสนใจ มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงระยะทางและเวลาที่แตกต่างกัน

    เนื่องจากสมาชิกของโลกไซเบอร์สามารถสร้างตัวตนใหม่ที่อาจมีบุคลิก นิสัย รูปลักษณ์ หรือแม้แต่อายุที่แตกต่างไปจากตัวตนที่แท้จริง ซึ่งอาจใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด ทำให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆ เช่น

    1.ปัญหาสุขภาพและความสัมพันธ์ทางครอบครัว

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตติดต่อกันเป็นเวลานานมากเกินไปอาจก่อให้เกิดปัญหาโรคติดอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นอาการทางจิตประเภทหนึ่ง มีอาการที่ต้องสงสัย เช่น มีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเรื่อยๆ รู้สึกหงุดหงิด หดหู่ กระวนกระวายเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตน้อยลง หรือ หยุดใช้ คิดว่าเมื่อได้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้วจะทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่โดยความเป็นจริงแล้วการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลานานก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ข้อมือ และเหนื่อยล้าทางสายตา นอกจากนี้ยังทำให้ความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว เพื่อน หรือการพบปะผู้คนในสังคมลดน้อยลง

    2.ปัญหาอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรมหลายรูปแบบ เช่น 
    เจาะระบบรักษาความปลอดภัย ให้สามารถเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อกระทำการใดๆ กับระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ หรือข้อมูลที่มิชอบต่างๆ อาจทำให้เกิดความเสียหายในเชิงธุรกิจ การบิดเบือนข้อเท็จจริง

    ขโมยข้อมูลส่วนตัว โดยการใช้ช่องทางสื่อสารหรืออินเทอร์เน็ต เช่น การแชท การโทรศัพท์ ในการได้มาซึ่งข้อมูลส่วนตัวของบุคคล โดยการปลอมแปลงเป็นผู้ดูแลระบบ หรือผู้ดูแลข้อมูล เป็นบุคคลใกล้ชิด หรือสร้างสถานการณ์ฉุกเฉินที่เสมือนจริง เพื่อหลอกล่อให้เหยื่อเกิดความไว้ใจ หรือหลงเชื่อ และเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

    วิธีการหลอกลวงเพื่อเจตนาขโมยข้อมูลส่วนบุคคลอีกวิธีหนึ่ง คือ การส่งอีเมลถึงผู้รับที่มีข้อความ เช่น รหัสผ่าน ข้อมูลทางการเงิน ไปใช้ในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นโดยมิชอบ หรือนำข้อมูลไปขายให้กับผู้ก่ออาชญากรรมอื่น โดยผู้ใช้อาจถูกหลอกให้ตอบกลับอีเมลพร้อมข้อมูลส่วนตัว หลอกให้คลิกบนยูอาร์แอลในอีเมล หรือหน้าต่าง ป๊อปอัพ ซึ่งเชื่อมโยงไปยังหน้าเว็บที่ถูกสร้างให้ดูเหมือนเว็บจริงของหน่วยงาน หรือ ธนาคาร และให้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่รู้ตัว

เกร็ดน่ารู้

    โปรแกรม phishing filtering จะช่วยคัดกรองหน้าเว็บที่ต้องสงสัยต่างๆ ให้กับผู้ใช้ ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ตัวป้องกันการแสดงหน้าต่าง ป๊อปอัพในโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ หรือผู้ใช้เพิ่มความระมัดระวังในการให้ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ โดยการตรวจสอบแหล่งทีมาของอีเมลก่อนให้ข้อมูล

    เผยแพร่ภาพอนาจาร การเผยแพร่ภาพอนาจารต่างๆ โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น ผ่านเกมออนไลน์ ผ่านการสร้างไฟล์ไวรัสเจาะเข้ามาที่ระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อผู้ใช้เปิดอินเทอร์เน็ตไฟล์ไวรัสจะแสดงภาพอนาจารต่างๆ หรือผ่านโปรแกรมค้นหา โดยการตั้งคำหลักที่หลากหลายให้กับภาพอนาจาร เมื่อผู้ใช้ค้นหาด้วยคำหลักที่ตรงกับที่ได้ตั้งไว้ก็จะปรากฏภาพอนาจารในผลที่ได้จากการสืบค้นหาข้อมูล

    3. ปัญหาการล่อลวงในสังคม

    จากการทีผู้ใช้งานในอินเทอร์เน็ตบางคน สร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ในการติดต่อสนทนากับผู้อื่น โดยให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ เช่น เพศ อายุ ภาพถ่าย และอาชีพ เพื่อล่อลวงให้คู่สนทนาสนใจตัวตนใหม่ และนัดพบเพื่อการกระทำอันตรายต่างๆ จนเกิดปัญหาร้ายแรงต่อทรัพย์สินหรือต่อตนเอง

ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานในระบบเครือข่าย

    1. ตั้งรหัสผ่านที่ยากแก่การเดา เช่น หลีกเลี่ยงในการใช้ชื่อเล่น วันเดือน ปี เบอร์โทรศัพท์

    2. เปลี่ยนรหัสผ่านสม่ำเสมอ

    3. ติดตั้ง ใช้งาน และปรับปรุงโปรแกรมป้องกันมัลแวร์สม่ำเสมอ

    4. ศึกษาความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการรับไฟล์ ดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ต เช่น อีเมล หรือหน้าเว็บต่างๆ

    เพื่อให้การใช้ชีวิตในโลกไซเบอร์เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม มีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ผู้ใช้ควรเลือกแสวงหาความรู้และใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน และมีวิจารณญาณ รู้จักแยกแยะสิ่งถูกและผิด มีความหนักแน่นในศีลธรรม ไม่ลุ่มหลงไปกับสิ่งยั่วยวนใจในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับภัยอันตรายหรือผลเสียที่อาจได้รับ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเกิดเหตุ และใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยความเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดสังคมและการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างมีความสุข

มุมนักคิด ในสังคมปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่เหมาะสมในลักษณะใดอีกบ้าง และ มีวิธีใดบ้างที่จะช่วยรณรงค์ให้ใช้อินเทอร์เน็ตในทางสร้างสรรค์

บัญญัติ 10 ประการในการใช้งานคอมพิวเตอร์ 

    1. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์ทำร้ายผู้อื่น เช่น ไม่ควรโพสต์ข้อความกล่าวหาบุคคลอื่นในเว็บบอร์ดให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ไม่ควรโพสต์รูปอนาจาร

    2. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์รบกวนผู้อื่น เช่น เปิดฟังเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ หรือ เล่นเกมรบกวนผู้อื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

    3. ต้องไม่เปิดดูไฟล์ของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาต เช่น แอบเปิดอ่านอีเมลของเพื่อน

    4. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการโจรกรรมข้อมูล ข่าวสาร เช่น การแอบเจาะระบบเพื่อขโมยข้อมูลการค้าของบริษัท ขโมยรหัสผ่านบัตรเครดิต

    5. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างหลักฐานเท็จ เช่น การแอบเจาะระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงคะแนน

    6. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการคัดลอก หรือ ใช้โปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ดาวน์โหลดโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ โดยมีโปรแกรมแก้ไขเพื่อให้ใช้งานได้

    7. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการ ละเมิดการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์โดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ เช่น ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือ ไม่ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าใช้

    8. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อนำเอาผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง

    9. ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากโปรแกรมที่ตัวเองพัฒนาขึ้น

    10. ต้องใช้คอมพิวเตอร์ โดยเคารพกฎ ระเบียบ กติกา และมารยาทของสังคมนั้น